วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ลูกสกาอาบยาพิษ


    ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการบริโภคปัจจัยที่มิได้พิจารณา เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้น พวกภิกษุได้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น ไม่ได้พิจารณาก่อนแล้วบริโภค ภิกษุเหล่านั้น โดยมากจะไม่พ้นจากนรกและกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน
พระพุทธองค์ จึงตรัสถึงโทษในการไม่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วใช้สอนว่า " ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ ได้รับปัจจัย ๔ แล้ว ไม่พิจารณาบริโภคไม่ควรเลย เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่นี้ พวกเธอ ต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยบริโภค "
   เมื่อทรงแสดงวิธีพิจารณาปัจจัย ๔ ทรงวางแบบแผนไว้โดยนัยมีอาทิว่า " ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร ฯลฯ เมื่อต้องการปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย " แล้วตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาปัจจัย ๔ อย่างนี้แล้วบริโภคย่อมสมควร ขึ้นชื่อว่า การไม่พิจารณาแล้วบริโภค เป็นเช่นกับบริโภคยาพิษที่ร้ายแรงยิ่งใหญ่ ด้วยว่า คนในครั้งก่อน ไม่พิจารณา ไม่รู้โทษ บริโภคยาพิษ ผลที่สุดต้องเสวยทุกข์ใหญ่หลวง " แล้วทรงนำอดีตนิทานมาสาธกดังนี้ว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนักเลงสกา ในกรุงพาราณสี วันหนึ่ง ได้เล่นสกากับชายโกงคนหนึ่ง เมื่อเวลาตนชนะก็จะไม่ทำลายสนามเล่น พอเวลาแพ้จะเอาลูกสกาใส่ปากแล้วบอกว่า ลูกสกาหาย แล้วก็เลิกเล่นหนีไปเป็นประจำ
พระโพธิสัตว์ จึงคิดหาวิธีแก้เผ็ดด้วยการเอาลูกสกาย้อมยาพิษแล้วตากให้แห้ง นำไปเล่นกับเขา พอเวลาแพ้เขาก็ทำเช่นนั้นอีก พระโพธิสัตว์เห็นเช่นนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
     " บุรุษ กลืนลูกสกา อันเคลือบด้วยยาพิษอย่างแรง ยังไม่รู้ตัว
       เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าในภายหลัง "
ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังพูดอยู่นั่นแหละ เขาได้ล้มลงสลบไปด้วยฤทธิ์ยาพิษ พระโพธิสัตว์จึงปรุงยาเพื่อให้เขาสำรอกออกมา ให้รอดพ้นจากความตาย แล้วสั่งสอนเขาไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก


คนที่เหมาะสมกับเหตุการณ์


  ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอานนทเถระ เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งนั้น พระสนมของพระเจ้าโกศล มีความประสงค์จะศึกษาธรรมะ จึงขอโอกาสพระราชา นิมนต์พระสงฆ์รูปหนึ่งเข้ามาสอนธรรมะในพระราชวัง พระราชาทรงเห็นดีด้วย จึงกราบทูลแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงจัดส่งพระอานนทเถระเข้าไปแสดงธรรมในพระราชวัง
   ต่อมาวันหนึ่ง พระจุฬามณีของพระราชาเกิดสูญหาย พระราชาจึงรับสั่งให้อำมาตย์ตรวจค้นผู้คนในพระราชวังทั้งหมด แต่ก็ไม่พบ ทำให้ผู้คนเกิดความเดือดร้อน
   วันนั้น พระเถระเข้าไปพระราชราชวัง พบเห็นความผิดปกติของพระสนม ซึ่งทุกวันพอเห็นพระเถระมา จะพากันร่าเริงยินดี ตั้งใจเรียนธรรม แต่วันนั้น กลับดูเหงาหงอย ซึมเซา จึงถามดู เมื่อทราบความแล้ว จึงขอเข้าเฝ้าพระราชา และให้คำแนะนำว่า
     " อุบายที่จะไม่ทำให้มหาชนลำบาก แล้วให้เขานำพระจุฬามณีมาคืน พอมีอยู่ โดยใช้บิณฑทาน กล่าวคือ พระองค์สงสัยคนเท่าใด ก็จับคนเท่านั้น แล้วให้ฟ่อนฟางหรือก้อนดินไปคนละก้อน บอกให้นำมาโยนทิ้งไว้ที่ห้องหนึ่ง คนที่ถือเอาพระจุฬามณีไป ก็จักซุกมากับฟ่อนฟางหรือก้อนดินนั้นนำมาโยนไว้ แล้วให้อำมาตย์ตรวจค้นดู วันแรกถ้ายังไม่พบ ก็พึงให้ทำเช่นนี้สัก ๓ วัน ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะไม่พลอยลำบากด้วย "
   พระราชารับสั่งให้ทำเช่นนั้นตลอด ๓ วัน ไม่มีใครนำแก้วจุฬามณีมาคืนเลย พระเถระถวายพระพรอีกว่า
      " ถ้าเช่นนั้น โปรดรับสั่งให้ตั้งตุ่มใหญ่บรรจุน้ำเต็มไว้ในท้องพระโรง ทำม่านกั้นบังไว้แล้วให้ผู้คนทุกคนในพระราชวัง ห่มผ้าแล้วเข้าไปในม่านล้างมือที่ตุ่มทีละคนแล้วออกมา "
   พระราชารับสั่งให้ทำเช่นนั้นปรากฏว่า ได้แก้วจุฬามณีกลับคืนมา ทรงดีพระทัยยิ่งนัก ผู้คนอาศัยพระเถระจึงพ้นจากทุกข์ได้ เรื่องนี้ทราบไปถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์ เกิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี วันหนึ่ง พระราชา เสด็จประภาสอุทยาน เมื่อจะทรงอุทกกีฬา รับสั่งให้พวกสตรีเปลื้องอาภรณ์เครื่องประดับไว้กับหญิงรับใช้ แล้วลงสู่สระน้ำ ขณะนั้น มีนางลิงขาวตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในอุทยานนั้น ขณะหญิงรับใช้หลับ ได้ลักเอาสร้อยมุกดาแล้วกระโดดขึ้นต้นไม้นำไปซุกซ่อนไว้ในโพรงไม้แห่งหนึ่ง
   ครั้นนางหญิงรับใช้ตื่นขึ้นมาไม่เห็นสร้อยมุกดา ก็ตัวสั่นจึงร้องตะโกนว่า " มีคนแย่งสร้อยมุกดาของพระเทวีหนีไปแล้ว " พวกทหารจึงรีบวิ่งตามจับโจร ขณะนั้น มีชายบ้านนอกคนหนึ่งเดินผ่านมา พอได้ยินเสียงนั้นก็ตกใจวิ่งหนี พวกทหารเห็นเขาหนีจึงวิ่งตามจับมาได้ ด้วยความกลัวตายชายคนนั้น จึงยอมรับว่า ได้ขโมยไปจริง เมื่อถูกถามหาว่านำไปไว้ไหน ก็บอกว่า มอบให้เศรษฐีไปแล้ว พระราชารับสั่งให้เศรษฐีมาเฝ้า เศรษฐีก็กราบทูลว่าได้มอบให้ปุโรหิตไปแล้ว ฝ่ายปุโรหิตก็กราบทูลว่าได้มอบให้คนธรรพ์ไปแล้ว คนธรรพ์ก็กราบทูลว่าได้มอบให้นางวัณณทาสีไปแล้ว ส่วนนางวัณณทาสีกราบทูลว่า มิได้รับไว้ เมื่อสอบสวนคนทั้ง ๕ คนกว่าจะทั่วทุกคน พระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าไปแล้ว พระราชาจึงรับสั่งว่า " ต้องรู้เรื่องในวัน พรุ่งนี้ " จึงมอบคนทั้ง ๕ ให้อำมาตย์แล้วเสด็จกลับเข้าสู่พระนคร
   ฝ่ายอำมาตย์คิดว่า " เครื่องประดับหายภายในสวน ส่วนคนเหล่านี้เป็นคนภายนอก การอารักขาก็เข้มแข็ง โอกาสที่คนข้างนอกหรือคนรับใช้ในสวนจะลักไม่มีวี่เเววเลย คำยอมรับของพวกเหล่านี้ ก็เพื่อปลดเปลื้องตนจากความผิดเท่านั้น สวนนี้มีลิงอาศัยอยู่มาก เครื่องประดับคงตกอยู่ในมือของลิงตัวหนึ่งเป็นแน่ " จึงขอให้มอบโจรทั้ง ๕ คนแก่ตน แล้วนำไปขังไว้ในห้องเดียวกัน สั่งให้ทหารแอบฟังดูว่า " พวกโจรนี้จะปรึกษาอะไรกันบ้าง "
   พอตกดึก เศรษฐีจึงถามชายบ้านนอกว่า
    " มึงเคยพบกูที่ไหน มึงเคยให้เครื่องประดับกูตั้งแต่เมื่อไร ? "
ส่วนชายบ้านนอกรีบขอโทษแล้วกล่าวว่า
    " ผมก็ไม่รู้จักสร้อยมุกดาด้วยซ้ำไป ที่อ้างท่านก็เพราะจะอาศัยท่านรอดพ้นจากอันตราย "
ฝ่ายปุโรหิตก็ถามเศรษฐีว่า " เมื่อชายคนนั้นไม่ได้มอบเครื่องประดับแก่ท่าน แล้วท่านเอามามอบให้ข้าพเจ้าตั้งแต่เมื่อใด "
เศรษฐีจึงกล่าวว่า " ข้าพเจ้ากล่าวไปก็เพราะเราทั้งสองเป็นคนใหญ่คนโต ช่วยกันพูดการงานก็จะสำเร็จด้วยดี "
ปุโรหิตก็พูดกับคนธรรพ์ว่าที่ข้าพเจ้ากล่าวตู่ท่าน ก็เพื่อที่จะอาศัยท่านอยู่เป็นสุขในห้องขัง ส่วนคนธรรพ์ก็กล่าวกับนางวัณณทาสีว่า ที่ข้าพเจ้ากล่าวตู่ท่านก็เพื่อที่จะอาศัยท่านในเรื่องเพศสัมพันธ์ พวกเราจักไม่ต้องหงอยเหงาอยู่ร่วมกันอย่างสบาย
   อำมาตย์ ฟังคำรายงานนั้นจากทหารแล้ว ก็ทราบแน่ชัดว่าคนทั้ง ๕ นั้นไม่ใช่โจร จึงสั่งให้ทำเครื่องประดับยางไม้ เสร็จแล้วให้จับลิงมาประดับหลายตัวแล้วปล่อยไป สั่งให้ทหารสังเกตดู พวกลิงที่ได้เครื่องประดับไปแล้วก็อวดเครื่องประดับกันเกรียวกราว นางลิงนั้น พอเห็นเพื่อนมีเครื่องประดับก็ทนไม่ได้ จึงไปนำสร้อยมุกดามาประดับอวดตน พวกทหารเห็นเช่นนั้น จึงนำกลับมามอบให้แก่อำมาตย์
   อำมาตย์ ได้นำสร้อยมุกดาเข้ากราบทูลแด่พระราชาและกราบทูลความจริงให้ทรงทราบ พระราชาทรงดีพระทัย เมื่อจะชมเชยอำมาตย์จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
     " ยามคับขัน ประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ
       ยามปรึกษาการงาน ต้องการคนไม่พูดพล่าม
       ยามมีข้าวน้ำ ต้องการคนเป็นที่รักของตน
       ยามเกิดปัญหา ต้องการบัณฑิต "

การไว้วางใจ


  ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการบริโภคปัจจัย ๔ ที่หมู่ญาติถวาย ด้วยความไว้วางใจ โดยไม่พิจารณาของหมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง มีสมบัติมาก ในเมืองพาราณสี เขามีโคอยู่ฝูงหนึ่ง ในฤดูทำนาได้มอบให้คนเลี้ยงโคคนหนึ่ง ต้อนฝูงโคไปตั้งคอกเลี้ยงโคอยู่ในป่า และให้นำน้ำนมโคมามอบให้ตนตามเวลา ก็แลในที่ไม่ไกลจากคอกโคนั้น มีราชสีห์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ด้วยความกลัวราชสีห์ ฝูงโคจึงซูบผอม น้ำนมก็ไม่เข้มข้นเหมือนเดิม
   วันหนึ่ง คนเลี้ยงโค นำน้ำนมโคมามอบให้เศรษฐี ๆ เห็นแล้วจึงถามว่า
      "ทำไม น้ำนมโค ถึงใส "
เขาจึงเล่าเรื่องนั้นให้เศรษฐีฟังว่า
      " มีราชสีห์ตัวนั้น ติดพันแม่เนื้อตัวหนึ่งจึงไม่หนีไปไหน "
เศรษฐีจึงแนะนำว่า
      " เจ้า จงจับแม่เนื้อนั้น ให้จงได้ ทายาพิษที่ขนของมัน ตั้งแต่หน้าขนผากมันขึ้นไปหลาย ๆ ครั้ง กักไว้ สัก ๒-๓ วัน แล้วค่อยปล่อยมันไป "
เขาได้ทำเช่นนั้น ราชสีห์เห็นแม่เนื้อนั้น ก็เลียตามตัวด้วยความสิเนหา ได้ถึงความสิ้นชีวิตไป
คนเลี้ยงโค ได้นำหนังของราชสีห์ไปมอบให้เศรษฐีๆ จึงกล่าวว่าขึ้นชื่อว่าความเสน่หาในพวกอื่นไม่ควรกระทำ ราชสีห์เพราะอาศัยความติดพันด้วยอำนาจกิเลส เลีียสรีระของแม่เนื้อสิ้นชีวิตแล้วกล่าวคาถานี้ว่า
     " บุคคล ไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน
       แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควร ไว้วางใจ
       ภัย ย่อมมีมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ " 

คนมีศิลปะ


   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี มีพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากคนหนึ่งประจำราชสำนัก ถ้าเขาได้พูดแล้วคนอื่นจะไม่มีโอกาสได้พูดเลย สร้างความรำคาญให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมากแม้กระทั่งพระราชา พระองค์จึงคิดหาวิธีสกัดคำพูดของปุโรหิตนั้น
   วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปพระอุทยานด้วยพระราชรถ ถึงต้นไทรทอดพระเห็นพวกเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังยืนมุงดูชายง่อยเปลี้ยผู้หนึ่ง ดีดก้อนขวดซัดใส่ใบไม้เจาะรูเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อยู่ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรดู ทรงคิดได้วิธีสกัดคำพูดของปุโรหิต รับสั่งให้ชายง่อยเปลี้ยเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า
   " ในราชสำนักของเรา มีคนพูดมากอยู่คนหนึ่ง เจ้า สามารถทำให้เขาหยุดพูดได้ไหม ? " 
เขากราบทูลว่า
   " ถ้าได้ขี้แพะถังหนึ่ง อาจทำให้เขาหยุดพูดได้ พระเจ้าค่ะ "
   จึงรับสั่งให้นำชายง่อยเปลี้ยเข้าวังด้วย ให้เขานั่งภายในม่านเจาะรูตรงข้ามกับที่นั่งของพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากนั้น พร้อมให้วางขี้แพะแห้งไว้ใกล้ ๆชายง่อยเปลี้ยนั้น พอได้เวลาพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้า เขาก็เริ่มกราบทูลพูดโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่น เมื่อเขาอ้าปากพูดคำไหน บุรุษง่อยเปลี้ยก็ดีดขี้แพะที่ทำเป็นก้อนเล็กๆ ผ่านม่านเข้าปากเขาทุกคำพูด พราหมณ์ปุโรหิตจึงได้กลืนกินขี้แพะโดยไม่รู้ตัว
    พระราชาทรงทราบว่าขี้แพะหมดแล้ว จึงตรัสว่า
    " ท่านอาจารย์ ท่านกลืนกินขี้แพะไปตั้งถังหนึ่งแล้ว ยังไม่รู้อีกหรือ ? ท่าน จงไปถ่ายท้องก่อนที่จะตายเสียเถิด "
   ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พราหมณ์ปุโรหิตปิดปากสนิท แม้ใครจะพูดด้วย ก็ไม่ค่อยจะพูด พระราชาทรงสบายพระทัยแล้วรับสั่งให้พระราชทานบ้าน ๔ หลัง อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทิศ พร้อมทรัพย์สินแก่ชายง่อยเปลี้ยนั้น
   ฝ่ายอำมาตย์ ได้เข้าเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า
   "ธรรมดาศิลปะในโลก บัณฑิตทั้งหลาย พึงเรียน แม้เพียงดีดก้อนกวด ก็ยังช่วยให้ชายง่อยได้สมบัตินี้ " แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
     " ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็สามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้โดยแท้
       ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อย ได้บ้านทั้ง ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดขี้แพะ "

ดีแต่สอนคนอื่น


   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีผู้พร่ำสอนรูปหนึ่งมักห้ามภิกษุณีรูปอื่นๆไปในที่หวงห้ามแต่ตนเองกลับไป เป็นเหตุให้ประสบเหตุร้าย ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกป่า จ่าฝูงของนกนับร้อยตัว อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง มีนางนกจัณฑาลตัวหนึ่ง แตกฝูงไปหากินไกลถิ่น ที่ทางใหญ่กลางดง ได้เมล็ดข้าวเปลือกและถั่วที่ตกหล่นจากเกวียนชาวบ้านเป็นอาหาร เกิดความโลภอยากเก็บไว้กินผู้เดียว เมื่อกลับมาหาฝูงจึงให้โอวาทแก่ฝูงนกว่า " ธรรมดาทางใหญ่ในดงลึก มีภัยเฉพาะหน้ามาก ทั้งจากฝูงช้าง ม้าและยวดยานที่เทียมโค ถ้าไม่โผบินขึ้นได้เร็ว ก็อย่าไปที่นั้นนะ " ฝูงนกจึงตั้งชื่อให้นางนกนี้ว่า แม่อนุสาสิกา
   ต่อมาวันหนึ่ง นางกำลังหากินอยู่ ได้ยินเสียงยานแล่นมาด้วยความเร็ว ก็เหลียวดูนึกว่า ยังอยู่ไกลตัว ทันใดนั่นเอง ยานพลันถึงตัวนาง ด้วยความเร็วปานลมพัด นางไม่อาจโผบินขึ้นได้ทัน จึงถูกล้อยานทับตัวขาดเป็นสองท่อน นอนตายอยู่ตรงนั้น
   นกจ่าฝูง เมื่อไม่เห็นนางกลับมาเข้าฝูง จึงเรียกประชุมนกและให้ออกติดตามหา ไปพบนางในที่นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
     " นางนกป่าชื่ออนุสาลิกา พร่ำสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองนิตย์
       แต่ตัวเองกลับโลภจัด จึงถูกล้อรถบดขยี้ขาดเป็น ๒ ท่อน นอนอยู่ที่หนทางใหญ่ "


นกกระจาบเจ้าปัญญา



   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภบุตรของอุตตรเศรษฐี ผู้ออกบวชเพราะเห็นความทุกข์และโทษของการครองเรือน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระจาบ วันหนึ่งออกไปหากินได้ติดข่ายของนายพราน ในขณะที่ถูกจับขังไว้ที่บ้านเพื่อขาย จึงคิดหาวิธีเอาชีวิตรอดได้อย่างหนึ่งว่า
     " ถ้าเรากินอาหาร เราก็จะถูกขาย ถ้าเราไม่กินอาหาร ก็คงซูบซอม คนก็จะไม่ซื้อเรา เราก็จะปลอดภัย "
แต่นั้นมาก็ไม่กินอาหาร นกกระจาบนั้น จึงซูบผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก ผู้คนก็จะไม่ซื้อไปเป็นอาหาร นายพราน พอเหลือเพียงนกกระจาบโพธิสัตว์ตัวเดียว ก็จับมันออกมาจากกรง ดูว่ามันเป็นอะไรพอนายพรานเผลอเท่านั้น นกกระจาบก็บินหนีกลับไปที่อยู่ของตน เมื่อฝูงนกกระจาบซักถาม ก็ได้บอกเรื่องราวให้ทราบ แล้วกล่าวคาถาว่า
     " คนเมื่อไม่คิดก็ไม่ได้บรรลุคุณธรรมพิเศษ ท่านจงดูผลอุบายที่เราคิดแล้ว
       เราพ้นจากการถูกฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น "

ไก่ขันไม่เป็นเวลา




   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง สร้างความรำคาญและความเดือดร้อนแก่หมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มานพประมาณ ๕๐๐ คน พวกมานพอาศัยไก่ขันยามตัวหนึ่ง ในการลุกขึ้นศึกษาศิลปะ ต่อมามันได้ตายไป พวกเขาจึงแสวงหาไก่ตัวอื่นแทนมัน
   วันหนึ่ง มีมานพคนหนึ่งเข้าไปหักฟืนในป่า ได้ไก่ป่าตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนี้ไม่รู้จักเวลาขัน เพราะเติบโตขึ้นในป่า บางวันก็ขันดึกเกินไป บางวันก็ขันอรุณขึ้น พวกมานพพากันตื่นมาศึกษาศิลปะในเวลาดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น ก็พากันนอนหลับไป ในเวลาสว่างแล้วก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย พวกเขาจึงพากันพูดว่า " เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวมันขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงศึกษาศิลปะไม่สำเร็จหรอก " จึงนำมันไปแกงเป็นอาหารแล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์
   อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
     " ไก่ตัวนี้ ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่
       ไม่ได้อยู่ศึกษาในสำนักอาจารย์
       จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน "